ถั่วงอกเป็นพืชผักที่มีโภชนาการสูงโดยเฉพาะโปรตีน เกลือแร่และวิตามิน และเป็นที่นิยมรับประทานสามารถนำมาทำอาหารได้หลากหลายรูปแบบ ที่รู้จักกันดี ก็เช่นใส่ในก๋วยเตี๋ยว กินเป็นผักแนมคู่กับขนมจีน ถ้าไม่ใช่ถั่วงอกก็เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง ไม่อร่อยครบรสและที่สำคัญถั่วงอกเป็นพืชผักชนิดเดียวที่ใช้เวลาในการเพาะจนถึงเก็บเกี่ยวใช้เวลาสั้นที่สุด หมายความว่า อาชีพเพาะถั่วงอกนั้นทำเงินกลับมาได้เร็วมาก โดยใช้เวลาประมาณ 3-4 วันแล้วแต่ว่าเพาะในฤดูไหน ถ้าฤดูหนาวก็ใช้เวลานานกว่าปกติ
เงินลงทุนเพาะถั่วงอกขาย
อาชีพเพาะถั่วงอกขาย ไม่ได้ใช้เงินทุนมากมายเลย เพียงแค่ 1,500 บาท ก็ทำได้แล้ว
รายได้เพาะถั่วงอก ประมาณ 1,400 บาทต่อเมล็ดถั่วเขียว 15 กิโลกรัม
ดังนั้นถ้าใครอยากเพาะถั่วงอกเป็นอาชีพเสริมก็ศึกษาวิธีการเพาะได้ดังนี้
วิธีการเพาะถั่วงอก
เพาะในภาชนะได้หลายแบบ ก็ให้แต่ละท่านอ่านและพิจารณาดูว่า แบบไหนสะดวกกับการจัดการที่สุด
1. เพาะในโอ่ง
วัสดุอุปกรณ์
โอ่งน้ำ 5 ใบ
กระสอบข้าวสาร
อ่างล้างถั่วงอก
สายยาง
เมล็ดถั่วเขียว
ขั้นตอนการทำ
1. นำโอ่งน้ำ หรือโอ่งลายมังกรขนาดกลาง 5 ใบ มาเจาะรูที่ก้นโอ่งขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. 5 รูต่อใบ เพื่อให้น้ำไหลออก หลังจากนั้นนำเมล็ดถั่วเขียวน้ำหนัก แช่ในน้ำสะอาด 1 วัน
2. เมื่อแช่น้ำจนได้ที่แล้วให้ล้างเมล็ดถั่วเขียวให้สะอาด พร้อมกับช้อนเมล็ดถั่วที่ลอยน้ำทิ้งไป เพราะเป็นเมล็ดเสีย ใช้การไม่ได้ หลังจากนั้นนำเทลงในโอ่งๆละ 3 กก. ปิดทับด้วยกระสอบข้าวสาร ใช้ระยะเวลาในการเพาะ 3 วัน โดยแต่ละวันต้องรดน้ำวันละ 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น
3. เมื่อครบ 3 วันจะได้ถั่วงอกมีความยาวประมาณ 3 ซม. น้ำหนักต่อโอ่ง 35-38 กก. ซึ่งรวม 5 โอ่งจะได้ถั่วงอกประมาณ 175 กก.
2. การเพาะถั่วงอกในเข่งไม้ไผ่
1. การเลือกเข่งไม้ไผ่ ควรใช้เข่งไม้ไผ่ผิวเรียบ ละเอียด สานเป็นเข่ง
2. ล้างถั่วเขียวให้สะอาด ปูเรียงลงไปจนได้ความสูง 1/2 ของเข่ง แล้วปูกระสอบป่านคลุมผิวหน้าเข่ง หรือใช้ไม้ไผ่ขัดแตะที่ผิวหน้า หรืออาจจะใช้ก้อนกรวดเรียงทับผิวหน้าบนอีกชั้นหนึ่ง
3. วางไว้ในที่ร่มและใช้น้ำสะอาด รดทุกๆ 2 ชั่วโมง
4.ผ่านไป 3 วันเก็บขายหรือนำมาทานได้
3.การเพาะถั่วงอกในปี๊บอะลูมิเนียม
1. เจาะรูที่ก้นปี๊บ แล้ววางแคร่ไม้เล็กๆ รองไว้ที่ก้นปี๊บ เพื่อให้ระบายน้ำง่าย
2. ปูผ้าพลาสติกกรีดเป็นริ้วๆ ลงบนแคร่ไม้ วัสดุที่ใช้เพาะถั่วงอกเป็นทรายหยาบ หรือขี้เถ้าแกลบที่สั่งเผาเฉพาะ (โดยที่ตัวแกลบยังอยู่ในสภาพที่เป็นรูปตัวแกลบอยู่)ปูทรายหยาบ หรือขี้เถ้าแกลบหนา 1.5 นิ้ว ทับผิวหน้าเมล็ดถั่วด้วยทรายหยาบ หรือขี้เถ้าแกลบ สลับกันระหว่างชั้นถั่วเขียว ประมาณ 5-6 ชั้น
3. ความสูงของเมล็ดถั่วเขียวในปี๊บไม่เกิน 1/2 ของความสูงปี๊บ
4. รดน้ำทุกวันๆ ละ 3 ครั้ง คือ เช้า เย็น และกลางดึก กะเวลาโดยประมาณ ได้ดังนี้ เช้า คือ ตั้งแต่แปดโมงเช้า ถึง สิบโมงเช้า บ่ายประมาณ สี่โมงเย็น และกลางคืน ประมาณ เที่ยงคืน
5. ใช้เวลา 3 วัน ก็เก็บขายหรือบริโภคได้
4.การเพาะถั่งงอกในตะกร้าพลาสติก
1. ใช้ตะกร้าผลไม้ (แบบที่ใช้ในตลาดผลไม้ขายส่ง) เนื่องจากตะกร้าประเภทนี้จะมีรูระบายน้ำอยู่แล้ว จึงควรกรุด้วยกระสอบปุ๋ยก่อน
2. นำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำแล้ว 1 คืน มาเทใส่ตะกร้าแล้วคลุมด้วยผ้ากระสอบปุ๋ย
3. รดน้ำด้วยสายยางทุกๆ 1-2 ชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน
4. เก็บขายหรือบริโภคได้
5.การเพาะถั่งอกในถังพลาสติก
1. นำถังพลาสติกทึบแสงเจาะรูระบายน้ำที่ก้นถังตามแนวตะเข็บเพื่อระบายน้ำ
2. เจาะรูด้านข้างถังเพื่อระบายอากาศ
3. ล้างเมล็ดถั่วเขียวให้สะอาด
4. แช่ถั่วเขียวเป็นเวลา 10 ชั่วโมงในน้ำอุ่นประมาณ 55 องศาเซลเซียส (ตอนเริ่มแช่ถั่ว) (น้ำร้อนต่อน้ำเย็น 1 : 1 )
5. ถ่ายเมล็ดถั่วลงในถังเพาะโดยนำฟองน้ำมาปิดด้านบนถั่ว แล้ววางถังเพาะไว้ในที่มืด
6. รดน้ำอย่างสม่ำเสมอทุกๆ ชั่วโมงครึ่ง โดยการรดให้รดผ่านฟองน้ำ
7. ประมาณ 1 วัน ถั่วเขียวจะเริ่มงอกโดยมีรากสีขาวเล็กๆ ถ้าทำเพื่อการค้า อาจจะใส่สารถั่วอ้วน เพื่อให้ดูน่ากิน (สารถั่วอ้วน เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ช่วยให้ถั่วงอกที่เพาะอ้วนและโตเร็ว ดูน่ารับประทานยิ่งขึ้น แต่อย่างไรมันก็คือสารเคมี ถ้าเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยงนะคะ หรือถ้าเพาะทานกันในครอบครัวก็ไม่ต้องใช้ เพราะจะปลอดภัยกว่า) แต่ก่อนรดสารถั่วอ้วนควรงดให้น้ำก่อนและหลัง 2 ชั่วโมง เพื่อให้ผิวหน้าเมล็ดแห้ง หลังจากนั้นก็รดน้ำตามปกติ จนกระทั่งครบ 2 วัน ก็ให้รดสารถั่วอ้วนอีกครั้ง โดยอัตราการใช้สารใช้สารขึ้นอยู่กับปริมาณถั่วเขียวที่ใช้เพาะ เมื่อเพาะครบ 3 วัน (ประมาณ 65-72 ชั่วโมง นับตั้งแต่เริ่มแช่ถั่วในน้ำ) แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับอุณหภูมิในช่วงฤดูกาลที่เพาะ เช่น ฤดูร้อนอาจใช้เวลาเพียง 65 ชั่วโมง แต่ฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำอาจใช้เวลานานถึง 72 ชั่วโมง ก็สามารถนำไปขายหรือบริโภคได้
เคล็ดลับ
1. เมล็ดพันธุ์ควรเป็นเมล็ดถั่วเขียวผิวมัน หรือผิวดำ
2. หากจะเพาะถั่วงอกในหน้าหนาว เวลาในการเพาะจะเพิ่มเป็น 4 วัน เพราะถั่วจะงอกช้ากว่าปกติ
3. หากมีเงินทุนและเพาะถั่วงอกจำนวนมาก ควรซื้อเครื่องปั็มน้ำพร้อมสายยาง ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มประมาณ 20,000 บาท
4. วิธีรดน้ำควรจะมีตะแกรงรองรับแรงดันน้ำที่ไหลมาตามสายยาง เพื่อป้องกันไม่ให้แรงดันน้ำเซาะถั่วงอกแตกกระจาย ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของถั่วงอก และทำให้ถั่วงอกมีลักษณะหงิกงอ เสียรูปทรง
5. ถั่วงอกเมื่อเพาะเสร็จเรียบร้อยแล้วในถัง หรือภาชนะเพาะ จะมีลักษณะขาวสวย แต่เมื่อนำออกจากถังเพาะและถูกลมหรือแสงสว่างนานเกิน 3-4 ชั่วโมง ก็จะเกิดการสังเคราะห์แสง สีขาวจะเปลี่ยนเป็นสีเขียว และใบเลี้ยงจะเริ่มโผล่ออกมาทำให้ไม่น่ารับประทาน